สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รางจืดเถา

รางจืดเถา

รางจืด และประโยชน์ของว่านรางจืด

รางจืดมีชื่อสามัญว่า Laurel clockvine, Blue Trumphet Vine

ชื่อวิทยาศาสตร์ Thunbergia aurifolia Lindl. 

ลักษณะทั่วไปของรางจืด

ต้น เป็นไม้เถา ลำต้นหรือเถานั้น จะกลมกลวงเป็นปล้อง เลื้อยเกาะพันไม้อื่น โดยใช้ลำต้นพันขึ้นไป ลำต้นเกลี้ยงมีสีเขียวสดถึงเข้ม รางจืดสามารถขึ้นได้ทั่วไปทุกภาคของประเทศไทย

ใบ เป็นใบเดี่ยวออกตรงกันข้าม ลักษณะใบ เป็นใบขอบขนาน มีหยักมนตื้นๆใหญ่ๆ โคนใบมนเว้าเหมือนหัวใจ ส่วนใหญ่ปลายใบจะเรียวแหลม แต่ก็มีที่ดูสั้น เหมือนหัวใจ ผิวใบหยาบสากมือเวลาจับ ดูผิวเผินคล้ายใบย่านาง แต่มีความแตกต่างที่ ใบย่านางจะมีร่างแหในใบละเอียดฉีกขาดได้ยากผิวใบเรียบ ส่วนใบของรางจืดจะกรอบเปราะหักง่าย ถ้าดินอุดมสมบูรณ์ดี ต้นจะใหญ่ ใบกว้างได้ถึง 12-13 ซม. และยาวประมาณ 16-21 ซม.

ดอก ลักษณะดอก ออกเป็นช่อห้อยลงมา 1 ช่อดอก อาจมีดอกกว่า 10ดอกขึ้นไป แต่จะบานสลับกัน ครั้งละประมาณ 4-5ดอก กลีบดอกมีสีม่วง มีใบประดับสีเหลืองอมเขียวประน้ำตาลแดง ดอกเป็นรูปแตรสั้นๆคล้ายดอกผักบุ้ง มี 5 กลีบเชื่อมติดกันที่โคนกลีบ โคนกลีบเป็นหลอดสั้นๆมีสีเหลืองดูน่ารัก

ผล ลักษณะของผลเป็นฝักกลม สีเขียว มีปลายแหลมยาว ดูคล้ายลูกข่าง หรือปากนก เวลาแก่จัดแห้งเป็นสีดำ แตกเป็น 2ซีก มีเมล็ดอยู่ภายใน เมล็ดเป็นสีน้ำตาล

วิธีเพาะขยายพันธุ์ สามารถนำเถาลำต้นปักชำได้  หรือแช่น้ำไว้ให้รากงอกก่อนจึงนำไปลงดิน หรือเพาะด้วยเมล็ด

รางจืดมีสรรพคุณในเรื่องการล้างพิษ ดังข้อมูลต่อไปนี้ ที่ได้หยิบยืมมาเพื่อเผยแพร่ความรู้ดีๆนี้กับประชาชนทั่วไป

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


รางจืด สมุนไพรล้างพิษ

 

รศ. พร้อมจิต ศรลัมพ์ 
ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ช่วงนี้มีข่าวคราวถึงสมุนไพรที่ชื่อ “รางจืด” กันมาก ภาครัฐมีความพยายามที่จะนำศักยภาพของภูมิปัญญาไทยมาปัดฝุ่น และใช้งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์มาช่วยในการขับเคลื่อนสมุนไพรชนิดนี้ให้เป็นประโยชน์ต่อคนไทยและมนุษยชาติ วันนี้สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะรายงานให้ท่านได้เห็นภาพของสมุนไพร “รางจืด” ชัดเจนขึ้น

รางจืดมีประวัติในการใช้ล้างพิษในร่างกาย แก้อาการแพ้ผื่นคัน และโรคผิวหนัง เช่น เริม ว่ากันว่าชาวบ้านจะกินน้ำคั้นใบหรือรากรางจืดก่อนที่จะไป “แข่งพนันดื่มเหล้าทนไม่เมา”และได้ผลดี เวลารับประทานของแสลง แล้วปวดท้อง ท้องเสีย ที่เรียกว่าผิดสำแดง ก็จะใช้ใบรางจืดเช่นกัน ทั้งยามเผอิญหรือตั้งใจกินสารพิษ ก็ใช้รางจืดแก้พิษได้ มีการวิจัยในประเทศไทยมานานแล้ว แต่ก็ยังไม่ชัดเจน

พ.ศ. 2521 นักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เป็นกลุ่มแรกที่ทดลองป้อนผงรากรางจืดให้หนูทดลองก่อนให้น้ำยาสตริกนินแต่พบว่าไม่ได้ผล หนูชักและตาย แต่ถ้าผสมกับน้ำยาสตริกนินก่อนป้อน พบว่าหนูทดลองไม่เป็นอะไร แสดงว่าผงรากรางจืดสามารถดูดซับสารพิษชนิดนี้ไว้

พ.ศ. 2523 อาจารย์พาณี เตชะเสนและคณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ใช้น้ำคั้นใบรางจืดป้อนหนูทดลองที่กินยาฆ่าแมลง“โฟลิดอล”พบว่าแก้พิษได้ ลดอัตราการตายลงจาก 56% เหลือเพียง 5% เท่านั้น ในขณะที่วิธีการฉีดกลับไม่ได้ผล

พ.ศ. 2551 สุชาสินี คงกระพันธ์ ใช้สารสกัดแห้งใบรางจืดป้อนหนูทดลองที่ได้รับยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์แกนโนฟอสเฟตชื่อมาราไธออนพบว่าช่วยชีวิตได้ 30%

พ.ศ. 2553 จิตบรรจง ตั้งปอง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พบว่าสารประกอบในใบรางจืดช่วยป้องกันการตายของเซลล์ประสาทของหนูทดลองที่ได้รับพิษจากสารตะกั่ว จึงสามารถป้องกันสูญเสียการเรียนรู้และความจำได้อย่างมีนัยสำคัญ 

มีการวิจัยเรื่องใบรางจืดสามารถปกป้องตับ ซึ่งเป็นอวัยวะที่กำจัดสารพิษในร่างกาย ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยรักษาชีวิตของผู้ที่ได้รับสารพิษ พ.ศ. 2543 รายงานวิทยานิพนธ์ของมหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่าสารสกัดแห้งของน้ำใบรางจืดน่าจะมีผลลดความเป็นพิษของตับจากแอลกอฮอล์ได้ พ.ศ. 2548 พรเพ็ญ เปรมโยธิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายงานผลว่าสารสกัดน้ำรางจืดแสดงฤทธิ์ดังกล่าว ทั้งในหลอดทดลองและในหนูทดลอง

นอกจากนี้ยังพบว่า สารสกัดน้ำใบรางจืดมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วย

ถ้าจะใช้สมุนไพร ควรพิจารณาความเป็นพิษด้วย สำหรับใบรางจืดมีการทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันที่ป้อนหนูทดลองครั้งเดียว ทั้งขนาดปกติและขนาดสูง ไม่พบความผิดปกติใด ๆ และป้อนติดต่อกัน 28 วันขนาด 500 มก.ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. ไม่พบอาการผิดปกติเช่นกัน แต่อาจทำให้น้ำหนัก ตับ ไต สูงกว่ากลุ่มควบคุม  ค่าชีวเคมีที่เกี่ยวกับไตสูงขึ้น และAST สูงขึ้น จึงควรใช้อย่างระมัดระวัง และไม่ควรรับประทานติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน

สำหรับการทดลองในคน ยังมีไม่มากนัก นพ. ปัญญา อิทธิธรรม  ทดลองเก็บข้อมูลการใช้สมุนไพรรางจืดในเกษตรกรซึ่งสัมผัสสารฆ่าแมลง ทั้งกลุ่มไม่ปลอดภัย กลุ่มเสี่ยง กลุ่มปลอดภัย โดยตรวจจากระดับเอนไซม์ในร่างกายที่เพิ่มขึ้นเมื่อได้รับสารพิษนี้   พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างกลุ่มที่กินและไม่ได้กินสารสกัดน้ำรางจืด แต่ยังสรุปไม่ได้ชัดเจนเพราะมีปัจจัยที่แตกต่างของพื้นฐานร่างกายอื่นๆ ของอาสาสมัคร เช่น ความแข็งแรง อายุเป็นต้น

เดือนกุมภาพันธ์ 2551 มีข่าวเรื่องน้ำคั้นใบรางจืดช่วยชีวิตผู้ป่วยอาการหนักมากจากพิษแมงดาทะเล ซึ่งได้รับการยืนยันจากแพทย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมพรเขตอุดมศักดิ์แสดงว่ารางจืดน่าจะมีสรรพคุณในการกำจัดพิษในร่างกายตามที่ตำรายาไทยระบุไว้

อย่างไรก็ตามการทดลองหากลไกที่สารประกอบในใบรางจืดกำจัดพิษและทดลองในคน รวมทั้งการทดสอบพิษระยะยาวที่ให้หนูทดลองกินติดต่อกันนานกว่า 6 เดือน มีความสำคัญต่อการนำมาใช้ประโยชน์อย่างจริงจังและถูกต้อง ทั้งต้องให้ชัดเจนว่าสามารถแก้พิษอะไรได้บ้าง ในขนาดเท่าไร  และคุณภาพของใบรางจืดควรเป็นแบบใด เพราะในพื้นที่ปลูกและกระบวนการปลูกอาจก่อให้เกิดโลหะหนักในวัตถุดิบที่เกินมาตรฐาน เช่น แคดเมียมเป็นต้น การที่กระทรวงสาธารณสุขให้ความสนใจและจะจัดสรรงบประมาณพุ่งเป้าให้วิจัยสมุนไพรรางจืดเป็นนิมิตรหมายที่ดี เพราะไม่มีเงินทำวิจัย นักวิทยาศาสตร์มีแต่สมองก็ทำอะไรไม่ได้

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 

ขอขอบคุณท่านเจ้าของสำหรับข้อมูลดีๆ ที่เป็นประโยชน์กับประชาชนทั่วไป

ขอขอบคุณ ภาพดอกและผลของรางจืด จากคุณวรนุช รักษาราษฎร์



Tags : รางจืดเถา

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

* *

 

*

view